มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผนึก อินโนบิก (เอเซีย) ถ่ายทอดงานวิจัย
“โจ๊กที่มีส่วนผสมสารสกัดใบหม่อนและผักแพว”
วัตถุดิบท้องถิ่นคุณประโยชน์สูง
เพื่อผลิตและจำหน่าย
สู่ตลาดไทยและสากล
วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์
2566
เวลา 09.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ บริษัท
อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด จัดงานแถลงข่าวพิธีลงนามการถ่ายทอดทรัพย์สินทางปัญญาผลิตภัณฑ์ “โจ๊กที่มีส่วนผสมสารสกัดใบหม่อนและผักแพว” โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล
อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ
ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด
(มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด พร้อมผู้บริหารทั้งสองฝ่ายร่วมลงนามในพิธี ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.ชาญชัย
พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า
ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น
มีความมุ่งมั่นผลักดันผลงานวิจัยที่ดีและมีคุณภาพไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
เพื่อยกระดับสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีผลการวิจัยรองรับ โดยใช้วัตถุดิบในประเทศ
และช่วยลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งที่น่าภาคภูมิใจคือ ผลงานนี้ใช้ใบหม่อนและผักแพวเป็นวัตถุดิบ
ซึ่งเป็นพืชที่มีแหล่งเพาะปลูกมากในท้องถิ่นของภาคอีสาน ถือเป็นความตั้งใจอย่างยิ่งของทีมนักวิจัยที่อยากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับใบหม่อนและผักแพว

สำหรับผลงานทรัพย์สินทางปัญญา
เรื่อง “โจ๊กที่มีส่วนผสมสารสกัดใบหม่อนและผักแพว” นั้น ทีมนักวิจัย นำโดย ศ.ดร.จินตนาภรณ์
วัฒนธร
รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการเสริมสร้างสุขภาพ
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งใจพัฒนาสูตรขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุซึ่งมักจะมีปัญหาเรื่องความจำและมีปัญหาเรื่องระบบกระดูก
นอกจากนั้น ยังช่วยให้สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรในรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพซึ่งมีมูลค่าสูงได้
เช่นเดียวกับผู้บริหาร บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการเป็นบริษัทชั้นนำด้านชีววิทยาศาสตร์ในภูมิภาคที่มีวิทยาศาสตร์อันเป็นเลิศ
เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ก็มีความมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ทางด้าน Life
Science และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ มหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก
(A World-Leading Research and Development
University) โดยหนึ่งในเป้าหมายคือ การวิจัย พัฒนาและการนำไปใช้ประโยชน์
จึงทำให้เกิดความร่วมมือและนำไปสู่การ Matching ผลงานวิจัยและธุรกิจในครั้งนี้
ศ.ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร
รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการเสริมสร้างสุขภาพ
มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพได้รับความนิยมมากขึ้น
มีการพัฒนาให้รับประทานง่าย ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ส่วนใหญ่มีราคาสูงเพราะนำเข้าจากต่างประเทศ
ในฐานะนักวิจัยจึงได้มีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพจากพืชที่มีมากในประเทศไทย
พบว่าใบหม่อนและผักแพวซึ่งเป็นผักพื้นบ้านอีสานมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง โดยเฉพาะ
สารฟีนอลิก และ ฟลาโวนอยด์ รวมทั้งมีปริมาณแคลเซียมสูง
ปัจจุบันเรากำลังเผชิญภาวะสังคมผู้สูงอายุซึ่งจะพบปัญหาเรื่องความจำบกพร่องและความแข็งแรงของกระดูกจะลดลงเนื่องจากมีการทำลายที่มากขึ้น
จึงตั้งโจทย์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ คือ แก้ปัญหาได้ถูกจุด แต่จะต้องรับประทานง่าย จนกระทั่งเกิดเป็นผลิตภัณฑ์
“โจ๊กที่มีส่วนผสมสารสกัดใบหม่อนและผักแพว”
ที่มีผลงานวิจัยรองรับและได้ยื่นขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว 
ดร.
บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กล่าวว่า
นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจด้านยา ด้านวัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์แล้ว
ในการดำเนินธุรกิจด้านโภชนเภสัชและโภชนาการ อินโนบิก (เอเซีย) มีวัตถุประสงค์ให้ผู้บริโภคได้รับอาหารที่ดี
มีคุณภาพ มีโภชนาการดี สามารถป้องกันโรคต่างๆที่มาพร้อมกับการดำเนินชีวิตตามวถีสมัยใหม่ได้
โดยมีกลยุทธ์การดำเนินงานร่วมกับพันธมิตร ผู้เชี่ยวชาญ
และสนับสนุนงานวิจัยที่มีศักยภาพให้สามารถก้าวไปสู่ระดับเชิงพาณิชย์
ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศได้
เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านโภชนาการแก่คนไทย 
“โจ๊กที่มีส่วนผสมสารสกัดใบหม่อนและผักแพว”
เป็นหนึ่งในงานวิจัยคุณภาพโดยนักวิจัยไทย
ที่นำพืชผักพื้นบ้านของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มาเป็นวัตถุดิบหลัก คือใบหม่อนและผักแพวที่มีคุณประโยชน์
เสริมสร้างความแข็งแรงของระบบต่างๆในร่างกาย
ซึ่งเป็นระบบสำคัญที่มักแสดงความผิดปรกติในกลุ่มผู้สูงอายุ สอดคล้องกับแนวโน้มของสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย
โดยวางแผนการจำหน่ายช่วงแรกในรูปแบบซอง
ตั้งเป้าออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 นี้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับคนไทย โดยเฉพาะผู้สูงวัย
ได้รับประทานอาหารที่สะดวกและมีประโยชน์
อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบในท้องถิ่น ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน โดยมีแผนที่ต่อยอดสารสกัดใบหม่อนและผักแพวเป็นสินค้าประเภทอื่นๆอีกในอนาคต 


|